(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
เพื่อนๆเคยลองไล่เรียงดูไหมครับ ว่าในชีวิตประจำวันของเพื่อนๆมีความเสี่ยงอะไรอยู่บ้าง
นั่งมอไซต์รับจ้างออกมาปากซอย อันนี้ก็น่าจะเสี่ยง
นั่งรถเมล์สาย 39 ที่วิ่งไวอย่างกะจะรีบกลับบ้านเก่า อันนี้ก็เสี่ยงนะผมว่า เอาชีวิตไปฝากไว้กะคนขับรถเมล์เลยก็ว่าได้
เดินข้ามถนนตรงทางม้าลายก็เสี่ยง เคยไหมครับ ข้ามถนนตรงทางม้าลาย ตอนสัญญานไฟให้เดินข้ามได้ แต่มีรถคันหนึ่งฝ่าไฟแดงมา พวกคนเดินต้องพากันเบรคกันตัวโก่ง แถมคนขับรถทำท่าทางปากขมุบขมิบด่าพวกเราคนข้ามถนนด้วย
ทำงานเสี่ยงไหมครับ หลายคนอาจจะเสี่ยง เพราะบังเอิญว่าไม่ค่อยถูกกับเจ้านายซักเท่าไร
หลายคนเอาเงินไปลงทุน ในตลาดทุน กองทุนน้ำมัน กองทุนทอง อันนี้ก็เสี่ยงนะผมว่า ความเสี่ยงต่อทรัพย์สิน
หลายคนตัดสินใจลาอออกจากงาน “ครั้งสุดท้าย” แล้วเริ่มต้นธุรกิจ นี่ก็เสี่ยงไม่แพ้กันเลยใช่ไหมครับ
และ “อื่นๆอีกมากมาย” รวมทั้ง ปั่นจักรยานไปทำงานนั่นก็ด้วย
แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปในความเสี่ยงนั้น ความเสี่ยงไม่ได้แค่จะให้ผลเป็นลบเสมอไปจริงไหมครับ อย่างการลงทุนในกองทุนต่างๆนั่น ก็ใช่ว่าจะมีแต่ทางขาดทุน ใครหลายๆคนร่ำรวยจากการลงทุนก็มาก หรือที่ลาออกจากงานประจำมาสร้างธุรกิจส่วนตัวนั่น ก็ร่ำรวยมานักต่อนักแล้วเช่นกัน
เมื่อความเสี่ยงมันมีทั้งมุมบวกและมุมลบอย่างนี้ ปรามาจารย์ด้านการบริหารนามเอกอุของโลกยุคปัจจุบันจึงได้มีการคิดเครื่องไม้เครื่องมือวิธีการในการที่จะจัดการความเสี่ยงกันมาหลายสำนัก เรียกชื่อกลางๆกันว่า Risk Management หรือ การจัดการความเสี่ยง ผมไม่ขออ้างถึงเนื้อหาที่เป็นวิชาการนะครับ หากเพื่อนๆสนใจก็สามารถใช้ปรามาจารย์กูเกิ้ลหาความรู้เพิ่มเติมได้
เพียงอยากสรุปคร่าวๆเอาประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการ ความเสี่ยงสำหรับปั่นจักรยานไปทำงาน มาชวนคุยเพื่อให้เพื่อนๆได้ฉุกนึกเท่านั้น โดยเฉพาะเพื่อนๆผู้อ่านที่ยังลังเลว่าจะจับจักรยานไปทำงานพรุ่งนี้เช้าเลยจะดีไหม
เวลาพูดถึงความเสี่ยงใดๆ ต้องพูดถึงความเสี่ยงในสองมุมเสมอครับ
มุมแรกคือผลกระทบ หรือ Impact เช่น ปั่นจักรยานไปถูกรถชน อันนี้ผลกระทบสูงเลยใช่ไหมครับ บาดเจ็บสาหัสถึงตายเลยล่ะ
ซึ่งถ้าจะพูดกันที่มุม Impact อย่างเดียว อันนี้น่ากลัวใช่ไหมครับ ถอยกรูดเลย ไม่เอาดีกว่า
แต่การพูดถึงความเสี่ยง จะต้องพูดอีกมุมนึงด้วยเสมอ นั่นคือ โอกาสที่จะเกิดครับ หรือที่เรียกว่า Likelihood หรือ Probability ก็เป็นอัตราส่วนครับ เช่น หนึ่งในร้อย หนึ่งในพัน หนึ่งในล้าน หนึ่งในร้อยร้านอะไรก็ว่าไป
ซึ่งเมื่อเอา Impact กับ Likelihood มาประกอบกัน ก็จะได้ ระดับของความเสี่ยง ซึ่งก็อาจจะสามารถจัดระดับได้เป็น HML หรือ High Medium Low เช่น ถ้า Impact สูง แต่โอกาสเกิดต่ำ ก็อาจจะเป็นระดับ M ถ้า Impact ก็สูง โอกาสที่จะเกิดก็สูงด้วย ก็จัดอยู่ในระดับ H และถ้า Impact ก็ต่ำ โอกาสก็น้อย อันนี้เป็น L แน่ๆ
แต่อันนี้ก็ไม่ตายตัวนะครับ แต่ละคน เงื่อนไขการจัดระดับเป็น HML ของความเสี่ยงก็จะแตกต่างกันออกไป
และแน่นอนว่า ระดับของความเสี่ยงที่แต่ละคนจะยอมรับได้ก็จะแตกต่างกันไปด้วย
ผมยกตัวอย่างตัวผมเองดีกว่า สำหรับการความเสี่ยงการปั่นจักรยานไปทำงานของผม ผมจัดให้อยู่ที่ระดับ Medium ครับ คือ Impact สูง แต่โอกาสจะเกิดนั้นต่ำ
แต่ระดับความเสี่ยงที่ผมยอมรับได้นั้น ไม่ใช่ Medium นะครับ ระดับความเสี่ยงที่ผมยอมรับได้นั้นเป็นแค่ระดับ Low
อ้าว แล้วอย่างนี้ทำไมผมยังปั่นจักรยานไปทำงานอยู่ละครับเนี่ย
คำตอบก็คือ ที่ผมยังออกไปปั่นจักรยานไปทำงานก็เพราะผมจัดการความเสี่ยงอันนี้ ให้มันมีระดับที่ลดลงไปจนถึง Low ไงครับ
แล้วผมจัดการยังไงล่ะ
ย้อนกลับไปด้านบน ระดับของความเสี่ยงประกอบมาจากสองส่วนใช่ไหมครับ Impact กับ Likelihood นั่นก็คือ ผมต้องลดส่วนประกอบสองตัวนี้ลง ให้อยู่ในระดับที่เมื่อมันประกอบกันแล้ว ระดับความเสี่ยงจะต้องไปอยู่ที่ Low ครับ
ผมลด Impact ยังไง
ผมใส่หมวกครับ อย่างที่เคยเล่าในบทความก่อนๆว่าเคยล้มหัวฟาดพื้น หมวกก็ช่วยป้องกันไม่ให้เจ็บหนักมาได้ล่ะ
แล้วลด Likelihood ยังไง
ผมปั่นช้า ผมไม่ฝ่าไฟแดง ผมไม่ตอบโต้คนขับรถอารมณ์เสีย ผมฝึกฝนเพิ่มทักษะการปั่นจักรยานบนท้องถนน และเมื่อปั่นมาก ชั่วโมงปั่นสูง ประสบการณ์สูง โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็ลดลง
และแล้วระดับของความเสี่ยงในการปั่นจักรยานไปทำงานของผมก็ลดลงมาอยู่ในระดับ Low อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้แล้วครับ
แต่ยังไงก็ตาม อย่างที่บอกว่า คนเราระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้นั้นไม่เท่ากัน บางคนอาจจะยอมรับได้ที่ High เลย อย่างพวกนักลงทุนต่างๆ High Risk, High Return เพื่อนๆคงเคยได้ยินคำนี้ และบางคนก็อาจจะยอมรับความเสี่ยงที่ได้ที่ ไม่มีความเสี่ยงเลย ซึ่งแน่นอนครับว่า เพื่อนๆที่รับความเสี่ยงได้ที่ระดับไม่มีความเสี่ยงเลยนั้น โอกาสที่จะเห็นออกมาปั่นจักรยานไปทำงานคงไม่มีเลย แต่เพื่อนๆที่สามารถรับความเสี่ยงได้บ้าง และเมื่อตัวเองสามารถจัดการความเสี่ยงตามหลักที่ต้องเอา Impact กับ Likelihood มาประกอบกันก่อน และพยายามลดส่วนประกอบให้ระดับความเสี่ยงมาอยู่ในจุดที่รับได้ ซึ่งอาจจะพยายามลดด้วยตัวเอง หรือถ้าจะมีหน่วยงานต่างๆมาช่วยลด เช่น ลดโอกาสเกิด โดยจัดให้มีทางจักรยานที่ปลอดภัย โอกาสจะเกิดลดลงเยอะมากๆ ก็อาจจะเห็นหลายๆคนที่ควาเสี่ยงไปอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แล้วออกมาปั่นจักรยานไปทำงานกันมากขึ้น
แต่สำหรับผม และเพื่อนๆอีกหลายคน ที่ตอนนี้ออกมาปั่นจักรยานไปทำงานกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าความเสี่ยงของผมและพวกเขาเหล่านั้นจะอยู่ที่ระดับไหน ลด Impact ลด Likelihood กันได้แค่ไหน จะมีทางจักรยานหรือไม่มีทางจักรยานก็ตาม ความเสี่ยงของพวกผมนั้นก็อยู่ในระดับที่รับได้อยู่แล้วครับ