ผมโพสภาพลงบนเพจ bangkokbikerider ไปครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งตอนนั้นโพสนี้เกี่ยวเนื่องกับประเด็น “Bike to School” ใช่ครับ พ่อปั่นจักรยานไปส่งลูกที่โรงเรียน แต่เมื่อผมกลับมาพินิจที่ภาพนี้อีกครั้งหนึ่ง องค์ประกอบอื่นๆที่อยู่ในภาพนี้ทำให้ผมนึกถึงประเด็นอีกประเด็นหนึ่งขึ้นมาอีกครั้งเช่นกัน นั่นคือประเด็นเรื่องความปลอดภัย ความปลอดภัยต่อพ่อผู้อบอุ่นอาทรที่ปั่นจักรยานไปส่งลูกไปโรงเรียนด้วยความรัก ความปลอดภัยของเด็กน้อยที่น่ารักไร้เดียงสาคนนี้
ภาพสองภาพผุดขึ้นในสมองของผมต่อจากการได้พินิจภาพนี้ ภาพหนึ่งคือภาพของนักปั่นจักรยานแต่งชุดครบเครื่อง ปั่นจักรยานเสือหมอบ เขาสวมหมวกกันน็อคเรียบร้อย มีแว่นตา ใส่ถุงมือ สวมรองเท้าปั่นจักรยานดูทะมัดทะแมง ฉากหลังของเขาน่าจะเป็นสนามเขียวที่สุวรรณภูมิ กับอีกภาพหนึ่งเป็นภาพของผู้ชายใส่หมวกปีกสานด้วยไม้ไผ่ ปั่นจักรยานอยู่ในซอยที่มีทั้งรถยนต์และรถมอไซต์วิ่งกันพลุกพล่าน ด้านหน้าจักรยานเป็นกล่องไม้ เปิดออก มีล๊อตเตอรี่วางซ้อนกันอยู่ ใช่ครับ เขาเป็นคนขายล๊อตเตอรี่
เมื่อสองสามเดือนก่อน ผมเคยเขียนบทความหนึ่งเกี่ยวกับหัวใจของความปลอดภัย ซึ่งผมเสนอไว้ในบทความนั้นว่า หัวใจของความปลอดภัยก็คือ “ความตระหนัก” ในเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัย ถ้าหากขาดเสียแล้วซึ่งความตระหนัก ขาดเสียซึ่งความเข้าใจในผลที่จะเกิดขึ้นในเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยเสียแล้ว ความเสี่ยงต่างๆเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้จักรยาน ใช้ถนนร่วมกันกับผู้อื่นก็จะมีแต่เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น แต่ถ้าทุกคนมีความตระหนักเรื่องความปลอดภัย ทุกคนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจะต้องอยากที่จะสวมหมวกกันน็อคโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ เพราะถ้าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น หมวกกันน็อคก็จะช่วยทุเลาความรุนแรงเหตุแบบนั้นได้มากเลยทีเดียว
แต่ภาพสองภาพ คนปั่นจักรยานของแบบด้านบน ทำให้ฉุกนึกขึ้นมาได้อีกประเด็นหนึ่ง
ปากท้อง
คุณพ่อคนในรูปอาจจะมีความตระหนักเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างดี เขาเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกเขา และพยายามลดความเสี่ยงด้วยการให้ลูกนั่งจักรยานในอ้อมแขนของเขา หากเกิดอะไรขึ้น เขาจะสามารถปกป้องเด็กชายตัวน้อยนี้ได้ เขาอยากใส่หมวกกันน็อคให้ตัวเอง อยากให้ลูกได้ใส่ เขาพยายามหาซื้อหมวกกันน็อคสำหรับปั่นจักรยานที่ถูกที่สุดแล้ว สำหรับผู้ใหญ่ที่ถูกที่สุดที่เขาหาได้คือ 750 บาท และก็ไม่มีขนาดสำหรับลูกของเขา เขารู้ว่าในกรุงเทพน่าจะมีขาย แต่เขาก็ไม่รู้จะไปซื้อที่ไหน ไม่มีใครเลย ที่จะให้ข้อมูลเขา ไม่มีใครเลย ไม่มีทีวีช่องไหนเลย ที่จะพูดถึงหมวกกันน็อคจักรยานราคาที่เขาพอจะซื้อได้สำหรับตัวเขาและลูกชายตัวน้อยของเขา
สำหรับหมวกกันน็อคราคา 750 บาท สำหรับเขาแล้ว ถ้าเขาจะต้องเลือกระหว่างปากท้องกับเรื่องความปลอดภัย เขาก็คงจะเลือกปากท้องก่อนเป็นแน่
มีการพูดกันมากในบ้านเราเมืองเราว่า จะมีการสนับสนุนให้มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกันให้มากขึ้น มีงบประมาณที่ถูกอนุมัติแล้วเป็นพันล้านบาท เพื่อสร้างทางจักรยานในพื้นที่ต่างๆ ทั้งเพื่อการสัญจร และเพื่อการออกกำลังกาย เรามีกิจกรรมปั่นจักรยานกันแทบจะทุกสัปดาห์ทั่วประเทศ จัดโดยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน บางสัปดาห์อาจจะมีงานใหญ่ๆชนกันเลยทีเดียว ภาพกิจกรรมปั่นจักรยานออกสื่อ นักปั่นจักรยานแต่งกายรัดกุม สวมหมวกกันน็อค ชุดจัดเต็ม แต่ผมไม่เห็นเลย ที่กิจกรรมเหล่านั้นจะมีการให้ความสำคัญอย่างจริงๆจังๆในเรื่องนี้ ในเรื่องความปลอดภัย และปากท้องของผู้ใช้จักรยานที่ฐานล่างของพีระมิด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของผู้ใช้จักรยานในประเทศนี้
คนขายล็อตเตอรี่ แขกขายถั่ว แม่บ้าน ยาม คนทำโรงงาน ปั่นจากบ้านในซอยออกมาจอดที่ปากซอย ชาวไร่ ชาวนา เด็กนักเรียนที่ปั่นจักรยานไปโรงเรียนในต่างจังหวัด บางคนอาจจะต้องปั่นไกลๆเป็น 10 กิโลกว่าจะถึงโรงเรียน (ผมนึกถึงวัลลียอดกตัญญู จะมีใครเกิดทันไหม) ฯลฯ
ผมคิดเล่นๆ แทนที่จะแจกแท็บเล็ต 2000 เครื่องให้นักเรียน เปลี่ยนเป็นมอบจักรยานหรือมอบหมวกกันน็อคที่มีมาตรฐานให้เด็กๆแทนได้ไหม
สสส. ช่วยคิดได้ทีได้ไหม ว่าประเด็นนี้ก็สำคัญ ท่านเข้าไปสนับสนุนงานปั่นจักรยาน งานออกร้านจักรยาน Bike Fest ทั้งหลายทั้งแหล่ ท่านเข้ามาสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัยของคนใช้จักรยานกลุ่มนี้ด้วยได้ไหม ทำสื่อออกทีวีบ้างได้ไหมเกี่ยวกับคนใช้จักรยานกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ ให้ความรู้เขาได้ไหม ให้ช่องทางเขาได้ไหม ว่าเขาจะเข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆเพื่อความปลอดภัยที่มีคุณภาพแต่เหมาะสมกับฐานะปากท้องของพวกเขาได้อย่างไร
การมีทางจักรยานสำหรับกลุ่มนักปั่นจักรยานกลุ่มกลางของพีระมิด อย่างพวกเราๆเนี่ยมันจะคุ้มไหม สร้างบนถนนเส้นทางหลัก แต่ในซอยก็ไม่มีทางจักรยานอยู่ดีนะครับ แต่คนกลุ่มนี้เขาใช้จักรยานในพื้นที่นั้นนะครับ มันจะเข้าถึงและเกิดประโยชน์กับเขาไหมครับ
เขียนมาถึงตรงนี้ ผมอยากชักชวนพวกเราครับ พวกเราเป็นกลุ่มที่มีปากมีเสียง มีสื่อ เล่นเฟสบุ๊ค พวกเราบางคนอาจจะเป็นสื่อเสียเอง บางคนอาจจะเป็นดาราเสียเอง เป็น “ชาวเน็ต” เป็นผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุค ให้ช่วยกันเป็นปากเป็นเสียงให้กลับพวกเขาเหล่านั้นครับ ผู้ใช้จักรยานกลุ่มใหญ่กลุ่มนั้น ถ้าใครจะรู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ใน สสส. ก็กวนสะกิดพวกท่านเหล่านั้นหน่อย หรือถ้าใครจะรู้จักผู้นำองค์กรเอกชนที่มีแผนจะจัดกิจกรรมการตลาด CSR อะไรก็แล้วแต่ในครั้งหน้า ช่วยสะกิดให้ท่านเหล่านั้นได้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยและปากท้องของผู้ใช้จักรยานกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้หน่อย เอาน่า แม้พวกเขาจะไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายของพวกท่านก็ตาม
สังคมจะเปลี่ยนได้ เพราะพวกเราช่วยกัน ผมเชื่อครับ