» » Build the Cycling City – บทเรียนจากอัมสเตอร์ดัม

Build the Cycling City – บทเรียนจากอัมสเตอร์ดัม

posted in: Daily ride | 0

build_amsterdams_bike_city

 

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

ภาพนี้คงอยู่ในความฝันของใครหลายๆคนรวมทั้งผมด้วย ว่าวันหนึ่งในอนาคตอันไม่ไกล กรุงเทพมหานครและเมื่อใหญ่ๆอีกหลายเมืองทั่วประเทศไทยจะมีทางจักรยานแบบนี้ให้ได้ใช้กัน

ผมเคยเอาภาพนี้โพสใน Facebook page bangkokbikerider โดยยังไม่ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นภาพจากที่ใด เนื่องจากว่าเป็นภาพประกอบข่าวเกี่ยวกับผู้ว่ามหานครลอนดอนมีโครงการที่จะสร้างทางจักรยานในแบบของเขา และก็มีเพื่อนๆที่ติดตามใน page ได้กรุณาทั้งท้วงว่า ภาพนี้น่าจะเป็นภาพทางจักรยานที่เมืองอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของ เดอะเนเธอร์แลนด์ ดินแดนกังหันลม ดอกทิวลิปและอัศวินสีส้ม

หลังจากนั้นผมก็เลยลองค้นหาข้อมูลใน Google เกี่ยวกับภาพนี้ เชื่อไหมครับ พอกดไปที่ผลสืบค้นที่เป็น image เท่านั้นล่ะ ผมนั่งดูเพลินเลย มีภาพการใช้จักรยาน ทางจักรยาน ที่จอดจักรยานที่มาจากเมืองนี้เยอะแยะไปหมด ดูไปก็ฝันไป อยากมีแบบนี้บ้างจังใน กทม. แต่ยังไงก็ตาม ดูไปก็ต้องถอนหายใจเป็นพักๆ เพื่อนๆน่าจะเข้าใจ ว่าทำไมผมถึงถอนหายใจ

ยังไงเสียผมก็พบกับบทความบทหนึ่งเข้า ซึ่งอ่านแล้วชอบเลยครับ เลยอยากจะเอามาเล่าให้ฟังต่อ บทความนี้ชื่อว่า Why Cycling Works in the Netherlands ครับ เพื่อนๆอยากจะอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษก็สามารถคลิกเข้าไปอ่านได้เลยนะครับ

 

เดอะ เนเธอร์แลนด์ หรือฮอลแลนด์ หรือฮอลันดา ภายหลังจากสงครามโลกก็ต้องทำการสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ โดยเป็นการสร้างขึ้นใหม่บนพื้นฐานของการใช้ความสำคัญของการใช้รถยนต์ แต่เมื่อถึงยุคปี 1970 ที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันขึ้นครั้งแรก ทั้งยังมีการทุบทำลายเมืองเพื่อสร้างถนนเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงเกิดการประท้วงขึ้นครั้งใหญ่ที่ชื่อว่า “Stop child murder” โดยประชาชนชาวเมือง เนื่องจากมีเด็กที่ต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในท้องถนนถึง 400 คน โดยจากการประท้วงส่งแรงกระเพื่อมทางการเมืองอย่างรุนแรงจนทำให้นักการเมืองต้องหันมาเปลี่ยนแปลงประเทศโดยให้ความสำคัญกับการปั่นจักรยานแทน

 

build_amsterdams_bike_path

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต ผู้ประท้วงในปี 1974 พากันทาสีถนนเพื่อเปลี่ยนให้เป็นทางจักรยาน)

ทั้งนี้นักการเมืองโดยนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นก็ได้มีการออกนโยบาย ออกกฏหมาย โดยนโยบายและกฎหมายที่ออกมานั้น เป็นนโยบายและกฎหมายที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นการ Anti-Car และเป็นนโยบายแบบ Pro-bike นั่นคือ ใครอยากจะขับรถก็ขับไป แต่ถ้าใครปั่นจักรยานนั้น ถือเป็นสิ่งที่น่าทำ และจะได้ประโยชน์แก่ตัวผู้ปั่นเอง

 

build_amsterdams_bike_policy

 

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นออกมาคุยกับผู้ชุมนุมในปี 1974 ก่อนจะมีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงประเทศขนานใหญ่ไปสู่สังคมการปั่นจักรยาน)

 

บทเรียนจากอัมสเตอร์ดัมสำหรับการสร้างสังคมการปั่นจักรยาน สร้างเมืองที่เป็นมิตรกับการปั่นจักรยานที่สำคัญก็คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทางต่างๆให้มีความปลอดภัย ใช้งานได้ดี เนื่องจากว่า การที่ใครซักคนจะตัดสินใจปั่นจักรยานออกจากบ้านมาบนท้องถนนเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันนั้น เรื่องความปลอดภัยเป็นปัจจัยที่สำคัญอันดับต้นๆเลยทีเดียว

และสำหรับเมืองอัมสเตอร์ดัมนั้น เขาสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเขาไม่ใช่แค่ว่าจะสร้างให้มันปลอดภัยในทางทฤษฎี แต่เขาสร้างให้เกิดการรับรู้ได้ถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งานด้วย โดยสามารถวัดผลความปลอดภัยได้เป็น 3 เรื่องคือ

 

1. Actual Safety ต้องวัดกันเป็นตัวเลขได้เลยครับ เช่นจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดกับนักปั่นจักรยาน จำนวนผู้บาดเจ็บ จำนวนผู้เสียชีวิต ซึ่งในบทความเขายกตัวอย่างถึงการเปรียบเทียบกับเมืองลอนดอนเลย ตัวเลขผู้บาดเจ็บต่างกัน 30 เท่า และตัวเลขคนตายต่างกันอยู่ 5 เท่าเลยทีเดียว

2. Subjective Safety มันเป็น feeling ล้วนๆครับ คือมันหมายถึงความรู้สึกปลอดภัยของนักปั่นจักรยาน จากโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้น โดยแยกจักรยานออกจากรถยนต์ และคนก็อยากที่จะออกมาปั่นจักรยานกัน

3. Social Safety อันนี้ก็เป็น feeling ที่เกี่ยวกับความรู้สึกปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อมทั่วไป ถนนหนทางถูกออกแบบมาอย่างดี ไม่มีจุดอันตราย มีความคล่องตัว สะดวก เป็นต้น

 

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นในอัมสเตอร์ดัมก็อย่างเช่นรูปแรกนั่นล่ะครับ การทำ Bike path ที่แยกส่วนออกจากถนนที่รถยนต์ใช้ในบางเส้นทาง การกำหนดให้มี Car-Free Zone สำหรับระยะใกล้ๆ เช่นกลางเมืองให้สามารถเดินทางได้ด้วยจักรยานในระยะเวลาประมาณ 20 นาที การปลดระหว่างถนนจากรถยนต์ให้เป็นถนนสำหรับจักรยานเมื่อมีการสร้างถนนสำหรับรถยนต์สายใหม่ขึ้นมาทดแทนแล้ว แถมเขายังมีการใช้วัสดุในการทำพื้นผิวถนนที่สามารถลดเสียงได้ด้วย (เทียบกับบ้านเรา แค่จะทำให้มันพอใช้ได้ยังไม่ค่อยมี ประสาอะไรจะไปถึงเป็นห่วงขนาดลดเสียงของพื้นถนน)

 

จากบทเรียนของอัมสเตอร์ดัมก็คือ นักการเมือง ผู้มีอำนาจ จะเป็นคนที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ สามารถสร้างให้เมืองใหญ่ๆในเมืองไทยเป็นสังคมการปั่นจักรยานอย่างอัมสเตอร์ดัมได้ ก็มีแต่นักการเมืองผู้มีอำนาจเท่านั้น 

ผมฝันไปหรือเปล่าครับ?

ถ้าชอบใจ Share เล๊ย
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Comments

comments