(ภาพโดย AK Siwa)
เมื่อครั้งที่ไปทริปน้ำตกชันตาเถร (คลิกอ่านบทความ เส้นทาง) ช่างไผ่ปั่นตามผมอยู่พักหนึ่งในตอนท้ายของทริป แล้วปั่นเร่งขึ้นมาจนทัน เพื่อบอกกับผมว่า ผมควรจะเพิ่มรอบขาให้มากขึ้น โดยต้องลดเกียร์ลง แล้วให้คุมรอบขาอยู่ที่ประมาณ 80 รอบต่อนาที ผมทำตามคำแนะนำของช่างไผ่ทันที แบบที่ยังมีคำถามสงสัยอยู่ในใจ กะว่าถึงที่หมายสิ้นสุดการทริปเมื่อไรจะถาม ว่ารอบขานั้นสำคัญต่อทริปการปั่นจักรยานอย่างไร ทั้งที่สุดท้ายแล้วความเร็ว (Speed) ก็ยังเท่าๆเดิม แต่สิ่งที่รู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งในตอนนั้นก็คือ ปั่นสบายขึ้น จนมาถึงทริปเขื่อนขุนด่านเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ทำให้ผมเรียนรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความหนักของเกียร์และรอบขา และมันเกี่ยวข้องกันโดยตรงกับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และความทนทานของกล้ามเนื้อครับ
ทริปเขื่อนขุนด่านฯของผมถือเป็นทริปปั่นจักรยานทางไกลเกิน 100 กิโลเมตรของผมเป็นครั้งแรกครับ เป็นครั้งแรกด้วยที่เริ่มจากบ้าน และไม่มีรถ Service ไปด้วย เริ่มตั้งแต่ตีห้าครึ่งจากบ้านที่สะพานใหม่ อากาศเย็นเจี๊ยบ และลมแรง ลัดเลาะออกไปถนนลำลูกกา ไปเข้าถนนเลียบคลองสาม ไปออกรังสิตคลองสามตามนัดที่ร้าน McDonalds คลอง 3 รวมระยะทางจากบ้านไปถึงจุดนั้น 21 กิโลเมตร พักกินน้ำและถ่ายรูปประมาณ 10 นาทีก็ออกปั่นต่อยิงยาวไปถามถนนรังสิต-องครักษ์ไปจนถึงปั้มน้ำมันปตท. ช่วงก่อนถึง อ.องครักษ์ ระยะเกือบ 30 กิโลเมตร ตรวจเช็คอัตราความเร็วเฉลี่ยของระยะ 30 กม. นี้อยู่ที่ประมาณ 25 กม/ชม.สำหรับขาอ่อนอย่างผมนี่ถือว่าเร็วเกินไปเสียด้วยซ้ำ
ออกจากปั๊มปั่นต่อไป โดยตั้งเป้าว่า จะหยุดพักกันที่ปั๊มปตท.ที่ตัวเมืองนครนายก ยิงยาว และนัดแนะกับคณะว่า จะคุมความเร็วให้ลดลงหน่อย เอาซัก 23 กม./ชม. ก็ปั่นกันไป หัวใจก็เต้นไม่ได้แรงเท่าไร ประมาณ 160 หายใจก็ยังคล่องดี ถ้าวัดที่ความรู้สึก จะเรียกได้ว่าไม่ได้รู้สึกเหนื่อยอะไรมากก็ได้ แต่เมื่อผ่านระยะทางรวม 80 กิโลเมตร ตรงนั้นคืออีกประมาณ 10 กิโลเมตรจะถึงเป้าหมายจุดพัก ก็ปรากฏว่า กล้ามเนื้อน่องที่ขาทั้งสองข้างของผมเป็นตะคริว ผมพยายามฝืนปั่นต่อไปอีกหน่อย ตะคริวก็ลามขึ้นมาที่กล้ามเนื้อต้นขาทั้งสองข้าง ผมโบกมือให้ชาวคณะหยุดพัก ประมาณ 5 นาทีจึงเรียกให้ไปกันต่อ และไม่ต้องรอผม จากตรงนั้นผมปั่นช้าลง ปั่นไปได้ซักกิโลเดียวก็ต้องหยุดพักอีก เพราะตะคริวมันกลับมาอีก เป็นเช่นนี้ไปจนถึงจุดพัก
ที่จุดพักนี้ถือเป็นจุดพักสุดท้ายแล้ว เพราะอีก 20 กิโลเมตรก็จะถึงจุดหมายเขื่อนขุนด่านปราการชล ผมขอร้องให้ชาวคณะพักอยู่ที่จุดนี้นานหน่อย ต้องเติมพลังงานคาร์โบไฮเดรต รวมถึงพักกล้ามเนื้อด้วย สุดท้ายชาวคณะใช้เวลาพักถึงครึ่งชม. จึงออกเดินทางต่อ ซึ่งก็ประกฏว่าผมสามารถปั่นได้ต่อเนื่อง แม้ว่าความเร็วจะลดลง แต่ก็ไม่เป็นตะคริวอีกจนถึงสันเขื่อน
ตอนแรกนั้นตั้งใจจะปั่นกลับในวันรุ่งขึ้น คืนนั้นทั้งคืนเรียกว่าปวดระบมไปทั้งตัวจนแทบจะนอนไม่หลับ พอตอนเช้าเลยต้องขอถอนตัว อาศัยรถเขากลับ โดยมีน้องชาวคณะสองคนที่ยังยืนยันจะปั่นกลับเช่นเดิม และเขาสองคนก็สามารถปั่นขากลับจนถึงบ้านได้อย่างปลอดภัย
ผมใช้เวลาขณะนั่งรถกลับเข้ากรุงเทพฯ ครุ่นคิดว่า ทำไมทั้งที่ผมยังไม่ได้รู้สึกเหนื่อยอะไรเลย แต่กล้ามเนื้อผมจึงเป็นตะคริว ผมนึกย้อนกลับไปว่า ทริปปั่นจักยานไกลที่สุดของผมก็คือการไปกลับจาก WorkPoint อยุธยา ระยะทางรวมเกิน 80 กม. มานิดหน่อย แต่จริงๆแล้วมันก็จะถือเป็น 2 Session เพราะเมื่อไปถึงอยุธยา ก็พักการปั่นกินข้าวอีกเป็น ชม. จึงปั่นกลับ หรือจะเป็นทริปชันตาเถร ระยะทางรวมประมาณ 70 กม.แต่ก็พักมี CheckPoint กันหลายจุด แตกต่างจากทริปปั่นจักรยานทางไกลไปเขื่อนขุนด่านฯ ในครั้งนี้
จริงๆผมยังไม่เคยปั่นระยะทางเกิน 80 กิโลเมตรเลย
ครุ่นคิดต่อถึงลักษณะการปั่นจักรยานไปทำงานของผม ผมนั้นมักจะเลือกใช้เกียร์สูงเกียร์หนักในการปั่น เพราะมีความเขื่อว่า ถ้าใช้เกียร์หนัก จะทำให้มีการเผาผลาญพลังงานส่วนเกินได้ดีกว่าการใช้เกียร์เบา รอบขาสูง และใช้เกียร์สูง ก็ทำความเร็วได้ดีกว่าด้วย นั่นคือความเชื่อของผมครับ จนสุดท้ายใกล้จะถึงบ้าน ผมจึงนึกคำคำหนึ่งที่เกี่ยวกับการปั่นจักรยานขึ้นได้ เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนแล้ว เคยหาอ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนแล้ว แต่ไม่นำพา ลืมไปแล้วด้วย คำนั้นก็คือคำว่า Endurance ซึ่งแปลเป็นไทยไทยว่า ความทนทาน
พอกลับถึงบ้านผมหยิบเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมาค้นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้งทันที
แล้วผมก็ไปพบบทความหนึ่งครับ ชื่อว่า Muscle Strength Vs. Muscle Endurance ซึ่งเขียนโดย คุณ Chris Freytag เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและการออกกำลังกายครับ โดยเธอบอกว่า เธอได้ยินบ่อยๆเลยที่ว่า
“heavy weights with low repetitions will bulk you up while light weights with high repetitions will tone you up.” การยกน้ำหนักที่มากและจำนวนต่อ Set น้อยจะทำให้กล้ามเนื้อเราใหญ่ขึ้น ส่วนการใช้น้ำหนักเบา และจำนวนครั้งที่มาก จะช่วยให้ขนาดของกล้ามเนื้อดูดี”
เธอบอกว่า มันก็ถูกล่ะ แต่จริงๆแล้วเบื้องหลังของเรื่องนี้คือเรื่อง “ความแข็งแรง หรือ Strength” กับ “ความทนทาน หรือ Endurance” ของกล้ามเนื้อนั่นเอง
เธอขยายความให้ฟังอีกหน่อยว่า Muscle Strength หรือความแข็งแรงนั้น ก็คือการที่เราสามารถออกแรงต่อน้ำหนักมากๆได้เป็นระยะเวลาสั้นๆ ยกตัวอย่างก็อย่างกีฬายกน้ำหนักนั่นล่ะครับ ส่วน Muscle Endurance นั้นก็คือการที่สามารถทำกิจกรรมโดยใช้กล้ามเนื้อนั้นเป็นเวลานานๆ โดยไม่รู้สึกเมื่อยล้า หรือเป็นตะคริวอย่างที่ผมเป็นนั่นล่ะครับ
นั่นประไร นอกจากผมไม่เคยปั่นจักรยานทางไกลขนาดนี้มาก่อนแล้ว ผมเองตอนปั่นจักรยานไปทำงาน ผมยังไม่เคยฝึกซ้อมกล้ามเนื้อของผมให้มีความทนทาน ที่ผมปั่นจักรยานไปทำงานทุกวันโดยใช้เกียร์สูงๆนั้น มันคือการฝึกซ้อมกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรงเสียมากกว่า พอมาเจอระยะทางไกลๆเวลานานๆก็เสร็จเลย ตะคริวแดก
พอมาถึงตรงนี้ก็รู้ซึ้งเรื่องหนึ่งล่ะ ถ้าริจะเป็นนักปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน เป็นนักปั่นจักรยานเพื่อการเดินทาง นักปั่นจักรยานเที่ยวชมระหว่างทาง จนถึงนักปั่นจักรยานทางไกลท่องเที่ยวที่ต้องผ่านทั้งทางราบระยะไกลๆที่ต้องใช้ความทนทาน และการที่ต้องปั่นขึ้นเขาที่มีความชันที่ต้องใช้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วยนั้น ก็ต้องมีการฝึกซ้อมด้วยครับ แต่ไม่รู้จะไปซ้อมตอนไหน ก็ซ้อมในระหว่างการปั่นจักรยานไปทำงานนี่ละ วันไหนจะซ้อมเพื่อความแข็งแรงก็ใช้เกียร์สูง วันไหนจะซ้อมความทนทานก็ใช้เกียร์ต่ำให้รอบขาสูง และเพื่อไม่ได้เป็นการได้เปรียเสียเปรียบ เพราะสัปดาห์หนึ่งมีห้าวัน พอถึงวันพุธขาไปก็ปั่นเกียร์สูง ส่วนขากลับก็ปั่น Endurance ดูน่าจะยุติธรรมดี
เพื่อนมีความเห็น หรือมีข้อเสนอแนะในเรื่องนี้ไหมครับ ขอคำแนะนำหน่อยซีครับ ผมจะได้เอาไปฝึกซ้อมบ้าง กะว่าทริปทางไกลคราวหน้า อยากจะปั่นท่องเที่ยวให้ได้ไกลกว่านี้อีกแบบไม่ต้องเป็นตะคริวครับ