คุณจำได้ไหม ว่าคุณ “เล่นเน็ต” ครั้งแรกเมื่อคุณอายุเท่าไร?
คนปั่นจักรยานมักจะเป็นคนความจำดี
ผม “เล่นเน็ต” ครั้งแรกตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีที่ 1 ครับ จำปีได้ด้วยนะเออ ปี 1994 โดยจะต้องจองคิวใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ห้องคอมพิวเตอร์ของคณะ
สมัยก่อนไม่ได้มีเว็บไซต์ให้เข้ามากนักหรอกครับ พวกนิสิตชายอย่างพวกผม ที่มาเข้าห้องคอมพ์กันหนาตาก็เพราะอยากคุยกับสาวๆครับ
เป็นสาวๆต่างมหาวิทยาลัยเสียด้วย โดยเฉพาะสาวๆที่มีนามสกุลห้อยท้ายชื่อด้วย @au.ac.th
สมัยก่อนเห็นแค่ชื่อกับนามสกุลเนี่ยล่ะครับ ไม่มีรูป profile ให้เห็นหรอก อ้าว แล้วจะรู้ได้ไงว่าคนไหนเป็นสาว คนไหนเป็นหนุ่ม
ก็อาศัยอ่านชื่อเอาครับ คนที่ “ออน” อยู่ ก็อาศัยทักไปก่อน
“สวัสดี ช/ญ ครับ?”
นั่นคืออินเตอร์เน็ตในยุคแรกครับ ซึ่งเขาเรียกยุคนั้นว่า Web 1.0 จะเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณปี 1991 จนถึงประมาณปี 2003
ซึ่งก็จะมีเว็บไซต์เกิดขึ้นมากมาย
และแน่นอน ระบบอินเตอร์เน็ตก็มีการ upgrade เป็น Web 2.0 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา โดยมีการเพิ่มความสามารถต่างๆขึ้น จากที่เคยมีแค่ตัวหนังสือ และรูปภาพในยุค 1.0 ก็มีเรื่องของวีดีโอ เสียง และบริการต่างๆ เยอะแยะไปหมด
จนมาถึงปีนี้ เขาว่ากันว่า ตอนนี้พวกเราชาวโลก อยู่ในยุค Web 3.0 แล้ว เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีเว็บ ภาษา มาตรฐาน ทำให้เรามีเว็บไซต์ที่มีสีสัน เนื้อหาที่น่าตื่นตาตื่นใจ และยังสามารถทำให้คนสามารถที่จะมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองได้ ทั้งที่ไม่มีความรู้ทางด้านการเขียนโปรแกรมเลยก็ตาม
ทุกการ upgrade นั้นจะมีการเพิ่มคุณสมบัติ ความสามารถเพิ่มขึ้น และมักจะทำให้ชีวิตของเรานั้นง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และอาจจะรวมถึงว่า เราจะปลอดภัยในการใช้งานที่มากขึ้นด้วย
แต่ผมจำไม่ได้แล้วว่าผมเห็นจ่าเฉยครั้งแรกเมื่อไร แต่จำได้ว่าเห็นครั้งแรกที่ป้อมตำรวจใต้สะพานข้ามคลองประปาแจ้งวัฒนะ
จำได้อีกอย่างว่า ส่ายหัว และถอนหายใจ เพราะจำได้ว่า ท่านผู้มีอำนาจของตำรวจท่านว่า จ่าเฉยนี้น่าจะมีผลทางจิตวิทยาต่อผู้ใช้รถใช้ถนน เป็นเชิงปรามว่า “ตำรวจจับตาดูท่านอยู่นะ อย่าทำผิดกฏจราจรเชียว”
เวลาล่วงเลยผ่านไป จ่าเฉยที่เป็นหุ่นปูนปั้นที่ตากแดดตากฝนก็ผุกร่อนสีลอก ก็หายหน้าหายตาไปจากสี่แยก
ผมเข้าใจว่า ตำรวจท่านคงจะเก็บไปทิ้งแล้วกระมัง และก็คงจะไม่ได้มีการทำใหม่มาทดแทน ซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะว่า แทนที่จะมีผลทางจิตวิทยาอย่างที่คาดหวัง กลับกลายเป็นเรื่องหน้าขันให้ผู้คนส่ายหน้า
แต่เมื่อผมใช้จักรยานปั่นไปทำงานร่วม 3 ปีมานี้ ผมก็พบว่า ผมน่าจะเข้าใจผิด
เท่าที่สังเกตที่แยกต่างๆหลายแยกที่ผ่าน เริ่มจากแยกรัชโยธิน(แยกที่อยู่ติดกับ สน. ที่สุด) มีบางวันผมเห็นคุณตำรวจ ที่ดูจะมีเลือดมีเนื้อ เพราะดูท่านจะเดินไปเดินมาได้ ยกวิทยุสื่อสารขึ้นมาใกล้ปากแล้วพูด ท่านเป่านกหวีดได้ ไม่ใช่จ่าเฉยที่เป็นหุ่นปูนปั้นแน่ๆ
แต่แล้วผมก็ต้องแปลกใจ เมื่อพบรถมอไซต์บ้าง รถยนต์บ้าง แล่นฝ่าไฟแดงออกไป และตำรวจท่านนั้น “เฉย”
อีกแยกหนึ่งคือแยกสุทธิสาร เช่นเดียวกัน ครั้งหนึ่งมีรถฝ่าไฟแดงมาจนเกือบจะชนผมอยู่แล้ว คุณตำรวจที่แยกนั้น “เฉย” ผมหันไปตะโกนเตือนท่านว่ารถเขาฝ่าไฟแดงจะชนผมอยู่แล้ว แต่ท่านก็ยัง “เฉย” ปล่อยให้รถคันนั้นแล่นผ่านไป
ที่แยกหมอเหล็ง มอไซต์ฝ่าไฟแดงกันเป็นฝูง สวนกันไปมา ดูอันตรายเป็นที่สุด มีตำรวจยืนอยู่ตรงนั้น ท่านก็ยัง “เฉย”
อ๋อ อย่างนี้นี่เอง
จ่าเฉยไม่ได้หายไปไหนหรอก ที่แท้ตำรวจที่อยู่ที่แยกสามแยกที่ผมเห็นและยกตัวอย่างนั้น ที่แท้ก็คือ “จ่าเฉย 2.0” รุ่น upgrade และนั่นไม่ใช่คนจริงๆหรอก นั่นคือ Droid ต่างหาก ก้าวหน้าจริงๆตำรวจไทย
ทุกการ upgrade นั้นจะมีการเพิ่มคุณสมบัติ ความสามารถเพิ่มขึ้น และมักจะทำให้ชีวิตของเรานั้นง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และอาจจะรวมถึงว่า เราจะปลอดภัยในการใช้งานที่มากขึ้นด้วย แต่นั่นต้องยกเว้น “จ่าเฉย 2.0” ไว้ เพราะ upgrade แล้ว ดูท่าจะอันตรายขึ้นเยอะเลย